ความเป็นมาและการใช้งาน ของ เกล็ดหิมะ (สแลง)

เชื่อกันว่า เกล็ดหิมะ (ผลึกหิมะ) ทุกเกล็ดมีโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว[2][3] ไม่ซํ้าแบบ การใช้ศัพท์ "เกล็ดหิมะ" ส่วนใหญ่อ้างอิงถึงคุณสมบัติทางกายภาพของเกล็ดหิมะ เช่น โครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ หรือความเปราะบาง ในขณะที่มีการใช้ส่วนน้อยที่อ้างอิงถึงสีขาวของหิมะ[4][5]

เจเนอเรชันเกล็ดหิมะ

คำว่า เจเนอเรชันเกล็ดหิมะ หรือ เจเนเรชันสโนว์เฟลก หรือ คนรุ่นเกล็ดหิมะ (Generation Snowflake หรือ Snowflake Generation) ได้รับความนิยมจากหนังสือ I Find That Offensive ! ของ แคลร์ ฟ็อกซ์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์การถกเถียงกันที่เกิดขึ้นระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยและคณบดีวิทยาลัย นิโคลัส เอ. คริสทาคิส (Nicholas Christakis) ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2015 ที่มหาวิทยาลัยเยล[ต้องการอ้างอิง] การเผชิญหน้ากันนี้ได้รับการบันทึกและอัปโหลดในยูทูบ ซึ่งแสดงภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยกำลังโต้เถียงกับคริสทาคิสที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับชุดฮาโลวีน และในเรื่องระดับความเหมาะสมของการเข้ามาแทรกแซงของมหาวิทยาลัยเยล ในเรื่องเครื่องแต่งกายของนักศึกษา ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการจัดระเบียบทางวัฒนธรรม ซึ่งฟ็อกซ์อธิบายวิดีโอนี้ว่าเป็นการแสดงภาพของ "การกรีดร้องของกลุ่มนักเรียนผู้ประท้วงในลักษณะการตีโพยตีพาย" (อาการอ่อนไหวของการแสดงอารมณ์ที่มากเกินที่ควรเป็น) และปฏิกิริยาสะท้อนที่มีต่อวิดีโอไวรัลนี้นำไปสู่การตั้งคำนิยามเชิงดูหมิ่นต่อนักเรียนกลุ่มนั้น ว่าเป็น "เจเนอเรชันเกล็ดหิมะ"[6]

"เจเนอเรชันเกล็ดหิมะ " เป็นหนึ่งในศัพท์แห่งปีของ พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับคอลลินส์ ในปีค.ศ. 2016 โดยให้คำจำกัดความของคำนี้ในลักษณะเหมารวมว่า หมายถึง "คนหนุ่มสาวในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 2010 ที่ถูกมองว่ามีความยืดหยุ่นน้อยกว่า และมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ "[7]

คำว่า เจเนอเรชันเกล็ดหิมะ หรือ เจเนเรชันสโนว์เฟลก ยังมักเกี่ยวข้องกับนัยยะของ คำกระตุ้นเตือน และ พื้นที่ปลอดภัย (ในบริบทของการค่อนแคะบุคคลที่แสวงหาเซฟโซน การหาที่ปลอดภัยในการหลบเลี่ยงจากสิ่งใด ๆ) หรือใช้เพื่ออธิบายต่อคนหนุ่มสาวว่านี่เป็นการต่อต้านเสรีภาพในการพูด โดยเฉพาะในแนวปฏิบัติที่เรียกว่า การปิดปาก (Deplatforming)[8][9][10] (เป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการสร้างความยับยั้งชั่งใจ โดยบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ด้วยเป้าหมายในการปิดโอกาสผู้พูดหรือสุนทรพจน์ที่มีการโต้เถียง หรือการปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสถานที่ที่จะแสดงความคิดเห็น) นอกจากคำนี้ยังเกี่ยวข้องกับนัยยะของการเพิ่มขึ้นปัญหาสุขภาพจิตในหมู่คนหนุ่มสาว [11]

คำสบประมาททางการเมือง

หลังจากผลการลงประชามติสนับสนุน เบร็กซิต (Brexit) ในสหราชอาณาจักร และการเลือกตั้ง โดนัลด์ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ คำว่า เจเนอเรชันเกล็ดหิมะ มักถูกย่อให้สั้นลงเหลือเพียง "เกล็ดหิมะ" และกลายเป็นตำค่อนแคะทางการเมือง บทความในเดอะการ์เดียนเดือนพฤศจิกายน 2016 ให้ความเห็นว่า "ก่อนหน้านี้ การเรียกใครสักคนว่าเกล็ดหิมะ น่าจะต้องร่วมกับคำว่า เจเนอเรชัน"

เกล็ดหิมะ (Snowflake) เป็นการค่อนแคะทางการเมืองที่โดยทั่วไปใช้โดยผู้ที่มีความคิดทางการเมืองเอียงขวา เพื่อใช้สบประมาทผู้ที่มีความคิดทางการเมืองเอียงซ้าย ในบทความจากลอสแองเจลิสไทมส์ เจสสิก้า รอยกล่าวว่า ออลต์ไรต์ในสหรัฐอเมริกาค่อนแคะคนเสรีนิยมส่วนใหญ่ และรวมผู้ที่ประท้วงโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นพวก "เกล็ดหิมะ"[12] บทความในThink Progress ปี 2017 ให้ความเห็นว่า "การค่อนแคะทางการเมืองนี้ขยายวงกว้างออกไปไม่เพียงเฉพาะต่อคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มเสรีนิยมทุกรุ่น และกลายเป็นทางเลือกหลักในการที่ฝ่ายขวาจะเรียกใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่า โกรธง่ายเกินไป ต้องการเซฟโซนมากเกินไป เปราะบางเกินไป"[13] Jonathon Green บรรณาธิการของ Green's Dictionary of Slang ระบุว่าศัพท์ เกล็ดหิมะ เป็นการค่อนแคะที่ผิดปกติในการเรียกเฉพาะคนที่อ่อนแอและเปราะบาง โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การดูถูกเพศหญิง (misogynistic) หรือ การเกลียดกลัวพวกรักเพศเดียวกัน (homophobic)[14]

จอร์จ ทาเคอิ (นักแสดง) ได้ขยายคำอุปมาเพื่อเน้นย้ำถึงพลังของคนพวกเกล็ดหิมะ โดยกล่าวว่า "สิ่งที่เกี่ยวกับเกล็ดหิมะ คือ ความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่หากด้วยจำนวนที่มหาศาลกลับกลายเป็นหิมะถล่มที่ไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งจะฝังคุณ (พวกฝ่ายขวา) ไว้ใต้นั้น"[14] ในขณะที่คนอื่น ๆ โต้กลับโดยค่อนแคะผู้ที่มีความคิดทางการเมืองเอียงขวาโดยอ้างว่า "เสียงการกรีดร้องลักษณะนี้ สามารถพบได้ทั่วทุกมุมมองทางการเมือง (ไม่ได้มาจากคนหนุ่มสาว หรือ ผู้ที่มีความคิดทางการเมืองเอียงซ้ายเพียงทางเดียว)" แต่รวมถึงพบได้จากประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย

โอนีล เบรนแนน (นักแสดงตลก) เรียกโดนัลด์ ทรัมป์ว่าเป็น "เกล็ดหิมะที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา"[14] ในขณะที่ความคิดเห็นจาก เดอะการ์เดียน ในเดือนมกราคม 2017 อ้างถึงประธานาธิบดีทรัมป์ว่าเป็น "ประมุขแห่งเกล็ดหิมะ (Snowflake-in-Chief)"[15] และ แวน โจนส์ (Van Jones) (ผู้บรรยายของ CNN) เรียกทรัมป์ว่า "ประธานาธิบดีเกล็ดหิมะ" ตามการตอบคำถามของเขาต่อเรื่องการสอบสวนรัสเซียของเอฟบีไอเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017[16]

เชลลี่ แฮสแลม-ออร์เมรอด (Shelly Haslam-Ormerod) อาจารย์ด้านสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี จาก Edge Hill University วิจารณ์การใช้คำนี้อย่างรุนแรง โดยโต้แย้งใน The Conversation ว่าเป็นการหยามเหยียดความท้าทายด้านสุขภาพจิตที่เยาวชนในปัจจุบันต้องเผชิญในโลกที่ไม่แน่นอน และสังเกตว่าแม้แต่เด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 10 ปีถูกเหมารวมป้ายสีให้เป็น "เกล็ดหิมะ" อย่างไม่เป็นธรรมในบทความแท็บลอยด์ต่าง ๆ [17]

ในคอลัมน์ของมัลคิน (Michelle Malkin) ได้วิพากษ์วิจารณ์ รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เข้าถึงได้ ซึ่งกำหนดให้มีการคุ้มครองสุขภาพจากนายจ้าง เพื่อให้ขยายการคุ้มครองไปยังลูกหลานของลูกจ้างที่เป็นผู้ใหญ่แล้วซึ่งมีอายุไม่เกิน 26 ปี โดยอธิบายว่าเป็น "กฎหมายของคนเกียจคร้าน" และเรียกคนหนุ่มสาวเหล่านี้ว่า "เกล็ดหิมะอันล้ำค่า" มัลคินระบุว่ากฎหมายดังกล่าวมี ผลกระทบทางวัฒนธรรม โดยไปลดแรงจูงใจสำหรับคนอายุ 20 ปีกว่า ๆ ที่จะเติบโตขึ้นเอง และแสวงหาชีวิตที่พึ่งพาตนเอง และการดำรงชีวิตด้วยตนเอง"[18]

ศัพท์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ "Broflake" ซึ่งมาจาก "bro" (การติดเพื่ิิอนในกลุ่มเยาวชนชาย) และ "snowflake" ซึ่งทั้งคู่เป็นคำสแลงเชิงลบซึ่งเกี่ยวข้องกัน ซึ่งพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด ให้คำจำกัดความหมายถึง "คนที่ไม่พอใจ หรือ ขุ่นเคืองใจได้ง่ายจากทัศนคติที่ก้าวหน้า ซึ่งขัดแย้งกับมุมมองแบบดั้งเดิมหรือแบบอนุรักษ์นิยมของเขา"[19] นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้กับผู้หญิงในความหมายทั่ว ๆ ไปของผู้ที่อ้างว่าตนไม่โกรธเคืองง่ายแต่แท้จริงแล้วเป็น[20]

การใช้งานอื่น

ในช่วงทศวรรษ 1970 ตามพจนานุกรมคำแสลงฉบับกรีน ศัพท์ เกล็ดหิมะ ถูกใช้เพื่ออธิบายถึง "คนผิวขาวหรือคนดำที่ถูกมองว่าทำตัวเหมือนคนขาวมากเกินไป"[13] ซึ่งมีต้นกำเนิดย้อนไปถึงสมัยการยกเลิกการค้าทาส ในคริสต์ศตวรรษที่ 18[4][5]

ในที่ทำงาน

ในปี 2560 บริษัทการตลาดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้สร้าง "การทดสอบความเป็นพวกเกล็ดหิมะ" (snowflake test) เพื่อใช้ในกระบวนการจ้างงานเพื่อตัดผู้สมัครงานที่มีแนวโน้มของความอ่อนไหวและความโอบอ้อมอารีที่มากเกินไป ซึ่งเชื่อว่ามักอาจส่งผลให้โกรธเคืองง่ายเกินไป" คำถามในการทดสอบดังกล่าวจำนวนมาก ถูกตั้งมาเพื่อประเมินท่าทีของผู้สมัครที่มีต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตำรวจ และอาวุธปืน[21] อย่างไรก็ตาม Cary Cooper (นักจิตวิทยาและนักวิชาการ) จากสถาบันธุรกิจแมนเชสเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ให้ความเห็นว่า การทดสอบนี้เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แย่ในการดึงดูดผู้สมัครงานรุ่นเยาว์ที่มีความสามารถ[22][23]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เกล็ดหิมะ (สแลง) http://www.cnn.com/videos/politics/2017/05/19/van-... http://www.collinsdictionary.com/word-lovers-blog/... http://www.popecenter.org/2016/12/snowflake-genera... https://www.cbc.ca/news/canada/new-brunswick/uniqu... https://adaymagazine.com/snowflake-generation/ https://www.bbc.com/worklife/article/20171221-the-... https://www.bostonglobe.com/ideas/2017/02/23/some-... https://www.inquirer.com/philly/blogs/real-time/Sa... https://www.lexico.com/definition/broflake https://www.merriam-webster.com/words-at-play/the-...